ก่อนที่ผู้สร้างแบรนด์อย่างเราจะทำอาหารเสริมสักตัว รู้หรือไม่ว่า วัตถุดิบแต่ละชนิดต้องผ่านการทดสอบสารปนเปื้อนอะไรบ้าง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักสารปนเปื้อนแต่ละตัว ทั้งผลเสียและข้อกำหนดของ อย. รวมไปถึงวิธีเลือกผู้ผลิตกันค่ะ
อย.ควบคุมการสารปนเปื้อน 2 กลุ่มคือ โลหะหนักและจุลินทรีย์
โลหะหนัก
1 ) ตะกั่ว
เป็นโลหะหนักที่ อุตสาหกรรมอย่างอิเล็กทรอนิกและคอมพิวเตอร์ใช้เป็นจำนวนมาก ตะกั่วที่ถูกปล่อยออกสู่สภาวะแวดล้อม ทำให้เกิดการปนเปื้อนของทั้งในดิน น้ำ และอากาศ เมื่อตะกั่วเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง ส่งผลต่อตับ ไต หัวใจและเส้นเลือด ภาวะเจริญพันธุ์ โครโมโซม และเป็นตัวก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เมื่อได้รับในปริมาณมากจะทำให้ ปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการทางสมอง เช่นชัก หรือหมดสติ
สารตะกั่วเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยองค์การอนามัยโลก รวมถึงต่างประเทศก็มีการรณรงค์ และมีมาตรการที่ป้องกันความเสี่ยง อย.จึงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ห้ามปนเปื้อนของตะกั่วเกิน 1 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ( 1 ppm )
2 ) สารหนู
หรือ อาร์ซีนิก (As) สามารถพบได้ในธรรมชาติ หรือการใช้ปุ๋ยและสารกำจัดวัชพืชหรือศัตรูพืช สารหนู มักพบปนเปื้อนอยู่ในผัก ผลไม้ น้ำดื่ม อาหารทะเล เครื่องสำอาง ยาแผนโบราณ สารหนูที่พบในธรรมชาติมี 2 รูปแบบ คือ สารหนูอินทรีย์ (Organic) และสารหนูอนินทรีย์ (Inorganic) ความเป็นพิษของสารหนูขึ้นอยู่กับชนิดของสารหนู รวมทั้งระยะเวลาและปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายซึ่งสารหนูอนินทรีย์จัดว่าเป็นสารหนูที่มีความเป็นพิษสูงกว่าสารหนูอินทรีย์ และถูกจัดให้เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในคนได้ แต่ร่างกายจะสามารถขับสารหนูออกได้เองโดยทางปัสสาวะในเวลา 2-3 วัน ถ้าได้รับสารหนูปริมาณน้อย แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากๆ เป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดการสะสมของสารหนูในร่างกาย แล้วเกิดความเป็นพิษได้
ความเป็นพิษเฉียบพลันอาจเกิดได้จากการได้รับสารหนูโดยการหายใจหรือโดยการรับประทานการได้รับสารหนูเข้าไปในปริมาณมาก ทำให้เกิดอาการได้หลายระบบทั้งระบบทางเดินอาหาร ปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ อาการทางระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ชักและหมดสติ ระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ปัสสาวะออกน้อย มีไข่ขาวในปัสสาวะ ระบบโลหิตพบภาวะโลหิตจาง เมื่อได้รับสารหนูสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการแบบเรื้อรัง ผิวหนังหนา ผิวหนังเปลี่ยนสีมีสีเข้มขึ้นและอ่อนลงเป็นจุดทั่วร่างกาย พบภาวะเลือดจาง ความดันโลหิตสูง ระบบประสาท ชาตามปลายมือปลายเท้า ความผิดปกติที่ผิวหนัง สารหนูเป็นสารก่อทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งที่ไต
อย.ได้กำหนดค่าสูงสุดของสารหนูทั้งหมดหรือ Total arsenic ในอาหารเสริม จะต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของสัตว์น้ำและอาหารทะเลจะต้องพบสารหนูในรูปอนินทรีย์ (Inorganic arsenic) ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
จุลินทรีย์
1 ) Stephylococcus aureus
สามารถสร้างสารพิษ (enterotoxin) ซึ่งคงทนต่ออุณหภูมิที่จุดเดือด การรับประทานอาหารที่มี enterotoxin ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายเฉียบพลัน อย่างเช่น คลื่นไส้อย่างมาก ปวดเกร็งลำไส้ และอาเจียน อุณหภูมิร่างกายจะต่ำกว่าปกติ และอาจมีความดันโลหิตต่ำลงด้วย ไม่ค่อยพบการเสียชีวิต โดยทั่วไปอาการมักจะเกิด 1-2 วัน แต่ความรุนแรงอาจจะมากจนต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และอาจได้รับการผ่าตัด เนื่องจากมีอาการของเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้ ดังนั้นเราจึงควรตรวจสอบให้ดีว่า อาหาร หรือส่วนประกอบในอาหารนั้น ได้ผ่านกระบวนการที่สะอาด มีมาตรฐานหรือไม่
อย. มีข้อกำหนดว่า จะต้องไม่พบ S.aureus ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 0.1 กรัม หรือ มิลลิลิตร
2 ) Salmonella sp.
ซาลโมเนลลาเป็นแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเป็นพิษ มักพบในอาหารประเภทเนื้อ ไก่ ไข่ นม ผลิตภัณฑ์ปลา และอาหารทะเลที่ไม่ผ่านความร้อนเพียงพอ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน มีไข้ ความรุนแรงจะแตกต่างตามปริมาณเชื้อที่ได้รับ โรคที่เกิดจากเชื้อซาลโมเนลลาที่สำคัญได้แก่ โรคกระเพาะะอาหารและโรคลำไส้อักเสบ โรคโลหะเป็นพิษ และไข้ไทฟอยด์ ผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้มักเกิดจากเลือดออกในลำไส้เล็ก และลำไส้ทะลุ
อย. ได้กำหนดการตรวจพบจุลินทรีย์ Salmonella sp.ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่า จะต้องไม่พบใน 25 กรัม หรือ มิลลิลิตร
3 ) Escherichia coli (E.coli)
เป็นแบคทีเรีย ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในลำไส้ใหญ่ของสัตว์และมนุษย์ พบได้ในอุจจาระ และพบเชื้อได้ในอาหารที่ปรุงไม่สุกหรืออาหารดิบ โดยเฉพาะเนื้อดิบซึ่งเคยมีรายงานการแพร่ระบาด เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มโคลิฟอร์มที่จะบ่งชี้ว่าอาหารมีการสุขาภิบาลที่ดีเพียงพอหรือไม่
แบคทีเรียชนิดนี้จะสร้างสารพิษที่มีผลทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุผนังลำไส้ ผู้ป่วยจะมี อาการท้องเสียกระทันหันและปวดท้องมาก มักจะท้องเสียภายใน 24 ชั่วโมง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ และจะถ่ายเป็นเลือด อาเจียน ไม่มีไข้หรือมีไข้เล็กน้อย โดยทั่วไปมักมีอาการใน 4 วัน
อย. ตั้งเป็นเกณฑ์มาตรฐานอาหารเสริม ว่าจุลินทรีย์ E.coli จะต้องน้อยกว่า 3 MPNต่ออาหาร 1 กรัม (ถ้าพบน้อกว่า 3MPN/g. ถือว่าไม่พบ)
4 ) Clostridium spp
เชื้อครอสตริเดียม เป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไป โดยเชื้อกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ พบมากบนดิน อุจจาระ สิ่งปฏิกูลโสโครก เมื่อ เชื้อครอสตริเดียมเอสพีพี เป็นเชื้อแบคทีเรีบที่ก่อให้เกิดโรคที่ไม่รุนแรงมากนักในคน ไม่นับรวมเชื้อในสายพันธ์นี้อีก 4 ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคที่รุนแรง คือ Clostridium botulinum, Clostridium difficile, Clostridium perfingens, Clostridium tetani
อย. ตั้งเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ว่าจะต้องไม่ตรวจพบแบคทีเรียชนิดนี้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่ออาหาร 0.1 กรัม
ฉะนั้นผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจควรใช้เลือกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อย่างระมัดระวัง โดยการขอขอตรวจสอบข้อมูลการตรวจโลหะและเชื้อจุลินทรีย์จากผู้ผลิตสำหรับสินค้าที่ใช้เป็นเป็นวัตถุุดิบ และสำหรับสินค้าที่พร้อมบริโภคสามารถดูที่ภาชนะของบรรจุภัณฑ์ ว่าต้องมีเครื่องหมาย อย. เป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้
Reference:
- http://www.fda.moph.go.th
- http://haamor.com
- https://sites.google.com
หมายเหตุ: MPN ย่อมาจาก most probable number of coliform organisms
MPN คือ การวิเคราะห์ปริมาณของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ที่มีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอในของเหลว ถ้าแบ่งของเหลวนี้ออกเป็นส่วนเท่าๆกัน แต่ละส่วนจะมีปริมาณจุลินทรีย์ใกล้เคียงกัน อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าบ้าง ค่าเฉลี่ยที่ได้นี้คือ MPN ซึ่งเป็นค่าทางสติถิที่ไม่มีหน่วย